ให้มรดกลูกตอนไหนดี?

21 Mar 2024 | เมื่อ 08:37 น.

 

เรื่องมรดกเป็นเรื่องที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะไม่พูดกัน ไม่ว่าจะด้วยเรื่อง “ถือ” ว่าจะเป็นลางไม่ดี เพราะการแบ่งมรดกก็อาจจะหมายถึงตัวคนเป็นพ่อแม่จะ “ไม่อยู่” แล้ว หรือจะด้วยความกังวลว่า หากพูดเรื่องนี้ไปเดี๋ยวลูกๆ หรือพี่น้องก็จะเกิดความแตกแยก คลางแคลงใจ บาดหมางกัน

 

แต่ถ้าว่ากันด้วยหลักเหตุผล เรื่องมรดกและการส่งต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน ควรมีการพูดคุย ตกลงตั้งแต่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ และทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรพูดปากเปล่า ควรจัดการให้เป็นลายลักษณ์อักษร มีผลทางกฎหมายไว้เลย เพราะการจัดการไว้ก่อน ถึงแม้จะเกิดความไม่ลงตัวเกิดขึ้นก็ยังมีพ่อแม่เป็นผู้อธิบายเหตุผล ไกล่เกลี่ย หรือยังเป็นที่เคารพ เกรงใจของลูกๆ ได้อยู่

 

นอกจากหลักความยุติธรรมธรรมแล้ว ก็ยังต้องพิจารณาช่วงเวลาหรือความช้าเร็ว ก็ต้องพิจารณาถึงวุฒิภาวะของลูกๆ นิสัยใจคอ ความรู้ความสามารถในการดูแลทรัพย์สิน ภาระหน้าที่ในการดูแลกิจการหรือสินทรัพย์ต่อ ความยุติธรรมในที่นี้จึงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ “เท่ากัน” แต่อาจจะหมายถึง ได้อย่าง “เหมาะสม” ก็ได้

 

จุดที่คนเป็นพ่อแม่ต้องเริ่มคิดเรื่องแบ่งมรดกหรือมอบทรัพย์สมบัติให้ ต้องคิดวางแผนล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาที่สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในชีวิตของลูก ซึ่งมีจุดที่ต้องพิจารณาหลักๆ ดังนี้

 

1. เมื่อลูกเรียนจบ การทยอยส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกตั้งแต่อายุยังน้อยๆ มีข้อดีคือ ลูกสามารถนำไปต่อยอดเป็นทุนชีวิต โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ไม่ลำบากบากบั่นมาก นำไปลงทุน บริหารให้งอกเงยได้ มีเวลาให้สินทรัพย์ทำงานได้นาน หากสินทรัพย์นั้นให้ผลตอบแทนดี การทบต้นทบดอกของผลตอบแทนเป็นเวลานานๆ จะมีผลต่อการทวีค่าของสินทรัพย์เป็นอย่างมาก อาจจะหลายเท่าตัว แต่ข้อเสียก็คือ หากลูกซึ่งยังอายุน้อยอาจจะประสบการณ์น้อย ความสามารถในการดูแลทรัพย์สินยังไม่มาก ก็อาจเกิดปัญหาได้ จึงควรเป็นการให้แบบลักษณะทยอยให้ไปทีละน้อยก่อน

 

2. ก่อนหรือหลังลูกแต่งงาน อันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเริ่มมีบุคคลที่ 3 หรือคนนอกครอบครัวเดิมเข้ามาเกี่ยวข้อง และการสมรสโดยมีการจดทะเบียนสมรสเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลทางกฎหมายอย่างมากต่อทรัพย์สิน เพราะจะเกิดคำว่า “สินสมรส” และ “สินส่วนตัว” ขึ้นมาสินทรัพย์บางอย่างแม้มอบให้ลูกตั้งแต่ก่อนลูกจดทะเบียนสมรส ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นสินส่วนตัว แต่ดอกผลที่เกิดขึ้นหลังจากจดทะเบียนสมรสส่วนนี้ก็กลายเป็นสินสมรสไปได้ แต่สินทรัพย์บางอย่าง อย่างบ้านหรือที่ดิน แม้ได้มรดกมาหลังจากจดทะเบียนสมรส หากหนังสือยกให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรส ก็ยังถือว่าเป็นสินส่วนตัวอยู่ รายละเอียดเหล่านี้จึงต้องศึกษาข้อกฎหมาย และรัดกุมเรื่องเอกสารสำคัญ ต้องระบุให้ชัดเจน

 

3. ตอนเรา(คนเป็นพ่อแม่) เกษียณ และยังมีชีวิตอยู่ ข้อพิจารณา ตัวคนเป็นพ่อแม่เองต้องกินต้องใช้ และต้องเผื่อค่ารักษาพยาบาลของตัวเองด้วย แต่ถ้าหากพ่อแม่ต้องการจะมอบทรัพย์สมบัติอย่างที่ดินให้แก่ลูกในระหว่างที่พ่อแม่ยังมีชีวิต แต่เกรงว่าจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะการไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือลูกไม่สามารถรักษาไว้ได้ (เช่น นำทรัพย์สิน บ้านหรือที่ดินไปขาย ทำให้ไม่มีที่อยู่) ก็อาจใช้วิธีโอนทรัพย์สินเป็นชื่อลูกและจดทะเบียนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินแก่พ่อแม่ผู้โอน โดยพ่อแม่สามารถไปจดสิทธิ์เก็บกินที่กรมที่ดิน พ่อแม่จะมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาประโยชน์ที่เกิดจากที่ดินนั้นได้ต่อไป เราสามารถไปจดสิทธิ์เก็บกินให้ตนเองได้ เป็นระยะเวลา เช่น 30 ปีหรือตลอดชีวิตของพ่อแม่ ลูกจะนำไปขาย หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ หากจะนำไปจำนองก็ต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่

 

4. หลังเจ้ามรดกเสียชีวิต แต่ก็ควรทำพินัยกรรมตั้งแต่ยังมีชีวิต เพื่อลดปัญหา ข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง ทางเลือกของการทำพินัยกรรมที่เป็นที่นิยมและรัดกุมคือ แบบเอกสารฝ่ายเมือง ทำโดยไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขต โดยแจ้งความประสงค์กับนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต และต้องนำหลักฐานทรัพย์สินไปแสดงทั้งหมด เช่น โฉนดที่ดินตัวจริง รวมทั้งต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าในขณะทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และต้องมีพยาน ซึ่งพยานจะต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน เช่น ทำพินัยกรรมให้ลูก ลูกก็ไม่สามารถเป็นพยานได้ พินัยกรรมแบบนี้จะถือเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ การโต้แย้งจะทำได้ยาก จึงเป็นแบบที่นิยมทำกันมาก

 

การจัดการเรื่องมรดกแม้จะมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ก็ควรวางแผนเสียแต่เนิ่นๆ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการกระทบกระเทือนความรู้สึก หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าทรัพย์สินเงินทอง