พร้อมหรือยังที่จะเป็นคนแก่ในสังคมผู้สูงวัย

21 Mar 2024 | เมื่อ 05:22 น.

 


สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยล่าสุด ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่า ในปี 2583 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยมากถึง 20.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 28.73% ถ้าประชากรไทยในปี 2583 คือ 71 ล้านคน หมายความว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ในสถานการณ์นี้คุณพร้อมหรือยังที่จะเป็นหนึ่งในผู้สูงวัยนั้น และคุณได้เตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อใช้ชีวิตแบบชาวสูงวัยอย่างมีความสุข

 

1. เตรียมสุขภาพให้พร้อม

 

การดูแลสุขภาพไม่ควรเริ่มเมื่อเราเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต การลดหรือเลิกสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารไม่มีประโยชน์ และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ คือก้าวแรกที่สำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตในวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ

 

2. วางแผนครอบครัวและชีวิตส่วนตัว

 

การตัดสินใจเรื่องครอบครัวและชีวิตส่วนตัวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตของคุณในอนาคต ไม่ว่าจะเลือกใช้ชีวิตคู่หรืออยู่เป็นโสด มีลูกหรือไม่มี ทุกตัวเลือกมีผลกระทบที่แตกต่างกันต่อการเตรียมตัวสำหรับชีวิตในอนาคต การมีลูกไม่เพียงแต่เป็นการส่งต่อมรดกทางชีวภาพและวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมสำหรับเมื่อคุณสูงอายุ การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้คุณมีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

 

3. วางแผนที่อยู่อาศัยในอนาคต

 

การเลือกที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับวัยสูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่มักถูกมองข้าม บ้านหลังที่คุณอาศัยอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เหมาะสมกับความต้องการและข้อจำกัดทางร่างกายในอนาคต ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย ได้แก่ ความปลอดภัย การดูแลรักษาที่ง่าย และการเข้าถึงบริการสาธารณะหรือความช่วยเหลือฉุกเฉินได้รวดเร็ว การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนหรือเลือกที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาคุณภาพชีวิตและอิสระในการดำเนินชีวิต

 

4. วางแผนและเตรียมตัวสำหรับงานหรือกิจกรรมหลังเกษียณ

 

ที่จริงคำว่าเกษียณอายุของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยังอยากทำงานต่อ บางคนยังทำงานได้แต่อยากเปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ชอบ บางคนอยากออกเดินทางท่องเที่ยว หรือไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องคิดและวางแผน เตรียมตัวล่วงหน้า คงไม่มีใครอยากเกษียณแล้วไปอยู่เหงาๆ เฉยๆ การเจ็บป่วยทางกายก็ไม่ดี การป่วยทางจิตใจก็ไม่ดีเช่นกัน เรื่องการเตรียมความพร้อมทางจิตใจและสังคม มีความสำคัญมาก และต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้ จะรอให้เกษียณหรือเป็นผู้สงอายุก่อนแล้วค่อยมาคิดไม่ได้ ...คุณล่ะ? อยากทำอะไรในแต่ละวันในชีวิตอีก 20-30 ปีข้างหน้า พฤติกรรม อุปนิสัย ทัศนคติ และสังคมคนรอบข้าง แต่ละอย่างในวันนี้ของคุณ เอื้อให้ก่อเกิดกิจกรรมเหล่านั้นในอนาคตได้หรือไม่

 

5. วางแผนทางการเงินการลงทุน 

 

ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ จากข้อ 1-4 ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่จะเกิดได้หากเรามีการวางแผนทางการเงินที่ดีการเริ่มเร็วทำให้เราไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในแต่ละช่วงเวลา เพราะช่วงเวลาที่เหลือยาวนาน จะมีพลังของดอกเบี้ย(หรือเงินปันผล) ทบต้นมาช่วยเราได้มาก และยังมีเวลายาวนานพอให้มูลค่าของสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์หรือทองคำได้สะสมมูลค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น หากเรามองย้อนไปไม่กี่ปีก็อาจจะเห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นน้อย คงที่ หรือลดลง แต่หากมองย้อนหลังไปนานๆ เป็นสิบๆ ปี จะเห็นว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น บางอย่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สำรวจดูว่าการออมเงินและลงทุนของท่านในวันนี้เพียงพอหรือไม่ การหวังพึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข.อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ยิ่งการที่เรามีแนวโน้มว่าจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่สุขภาพแย่เร็วขึ้น ยิ่งเป็นความเสี่ยงที่เราจะ “แก่ก่อนรวย” และ “มีช่วงเวลาต้องใช้เงินมากกว่าช่วงเวลาเก็บเงิน” ดังนั้น เริ่มมองหาวิธีเก็บเงิน หาทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย และหาวิธีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมเสียตั้งแต่วันนี้

 

การเตรียมตัวสำหรับชีวิตในวัยสูงอายุเป็นกระบวนการที่ควรเริ่มต้นเนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ การวางแผนครอบครัวและชีวิตส่วนตัว การเตรียมที่อยู่อาศัย การวางแผนกิจกรรมหลังเกษียณ และการวางแผนทางการเงิน การลงมือทำตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้คุณพร้อมสำหรับอนาคตและสามารถใช้ชีวิตในวัยสูงอายุได้อย่างมีความสุขและความสะดวกสบาย

 

จริงจังเรื่องเก็บเงิน มีเรื่องราวที่ช่วยคุณได้ รวบรวมไว้ที่นี่ คลิ๊ก...